Monday, July 16, 2007

แนวคิดหลักในการสร้างสำนักสงฆ์ป่าอ้อร่มเย็น

การสร้างสำนักสงฆ์ป่าอ้อร่วมเย็น อาศัยแนวความคิดหลัก ๔ ประการดังนี้
๑. ธรรมะ
๒. ธรรมชาติ
๓. ศิลปะ
๔. ศรัทธา

หลักที่ ๑. ธรรมะ หมายถึง พระธรรมคำสอนตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ซึ่งเน้นการพัฒนาตนอย่างครบถ้วน ทั้ง ๓ ด้านคือ

- การพัฒนาด้านศีล คือพัฒนาทางกายภาพและความเป็นอยู่ การดำรงชีพอย่างสุจริต การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน การเสียสละ และการตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี เพื่อความสงบร่มเย็นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

- การพัฒนาด้านสมาธิ คือการพัฒนาจิตใจ ตั้งจิตเป็นกุศล มีความระลึกชอบ และตั้งมั่นอยู่ในสติและสมาธิ

- การพัฒนาด้านปัญญา คือการพัฒนาตนให้เกิดปัญญาที่จะเข้าใจและรู้แจ้งถึงอริยสัจ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

หลักที่ ๒. ธรรมชาติ หมายถึง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างเป็นองค์รวม กล่าวคือ

- ธรรมชาติมีผลต่อสุขภาพกาย : สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของป่าและต้นไม้ คุณภาพของอากาศ และความสมดุลของฤดูกาล ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วย การทำมาหากินของคนทุกอาชีพ ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเสียสมดุลของธรรมชาติ เช่น อากาศที่ร้อนหรือหนาวผิดปกติ คุณภาพออกซิเจนที่ลดลง ความแห้งแล้ง น้ำป่า น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว และการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่ทำลายทั้งมนุษย์และสัตว์ เหล่านี้ล้วนเกิดจากความโลภของมนุษย์ที่ผลาญและทำลายธรรมชาติจนในที่สุดส่งผลย้อนกลับมากระทบตัวเอง

- ธรรมชาติมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก : สิ่งแวดล้อมย่อมมีอิทธิพลและเป็นตัวกระตุ้นประสาทรับรู้ หรือ อายตนะ (ทั้งภายนอกและภายใน : ตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส และกายได้สัมผัส) การรับรู้จากทุกอายตนะล้วนมีผลต่อสภาวะอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบ หากสิ่งแวดล้อมมีการปรุงแต่งให้ห่างไกลจากความเรียบง่ายตามธรรมชาติมากเกินไป ประสาทรับรู้ก็จะถูกกระตุ้นให้เกิดกิเลสได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย เช่น ยิ่งตกแต่งประดับประดามาก ก็จะยิ่งเกิดความโลภไม่รู้จักพอมากขึ้น ยิ่งตกแต่งด้วยของมีค่ามาก ก็จะก่อให้เกิดความวิตกระแวงและเกิดโทสะตามมา ยิ่งตกแต่งด้วยถาวรวัตถุมาก ก็จะยิ่งทำให้ยึดติดและไม่เข้าใจธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลง(ไตรลักษณ์)

- ธรรมชาติมีผลต่อการพัฒนาสมาธิ : ธรรมชาติที่สงบ ร่มเย็น และเรียบง่าย จะทำให้จิตใจเกิดความสงบ ความสงบเป็นบ่อเกิดของสมาธิ และการพัฒนาสมาธิอย่างต่อเนื่องจะทำให้บุคคลสามารถดำรงสติ มีวิจารณญาณ สามารถพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และแก้ปัญหาต่อเรื่องราวและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างสุขุม รอบคอบ ด้วยสันติวิธี

- ธรรมชาติมีผลต่อปัญญา : เมื่อร่างกาย อารมณ์จิตใจ สมาธิและสติ มีความแข็งแรง มั่นคงและสมดุล การพัฒนาทางปัญญาเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งถึงพระธรรมและความหมายที่แท้ของชีวิตจึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาสูงสุด


หลักที่ ๓. ศิลปะ ศิลปะ ความงดงาม สุนทรียภาพ การออกแบบก่อสร้าง และการตกแต่งวัดป่าอ้อร่มเย็น จะต้องสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ และมีนัยยะแฝงหลักธรรมอยู่ในความหมายของการออกแบบแต่ละจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวสถาปัตยกรรมและการจัดสิ่งแวดล้อม จะยึดหลักธรรม ๓ ประการคือ สะอาด สว่าง และสงบ
- สะอาด คือ ความสะอาด เรียบร้อย เจริญตา และความสอดคล้องกลมกลืนกัน เพื่อให้ศิลปะทำหน้าที่ชำระจิตใจของเราให้สะอาด

- สว่าง คือ การออกแบบที่คำนึงถึงแสงสว่างจากธรรมชาติ อากาศถ่ายเทสะดวก เกิดประโยชน์ใช้สอดคล้องเหมาะสม มีการรักษาสมดุลธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกป่าและต้นไม้รอบบริเวณวัด เพื่อเพิ่มก๊าซออกซิเจนในอากาศ และช่วยรักษาหน้าดิน ซึ่งความสอดคล้องกลมกลืนของศิลปะและธรรมชาติ จะช่วยให้จิตใจของเราเกิดความสว่างผ่องใส

- สงบ คือ การออกแบบที่คำนึงถึงบรรยากาศแห่งความสงบวิเวก ไม่ก่อเสียงอึกทึกรบกวนสภาวะจิตในการภาวนา ไม่ประดับตกแต่งมากจนเกินไป จนเกิดความรกกาย รกใจ ทำให้เกิดกิเลสปรุงแต่ง จนเป็นผลให้จิตห่างไกลจากความสงบ


๔. ศรัทธา หมายถึงศาสนิกชนที่ศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ศรัทธาในที่นี้หมายรวมถึงคนในชุมชมบ้านป่าอ้อ ท้องถิ่นเชียงราย และศรัทธาจากที่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีความหมายที่เปิดกว้าง ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวพุทธ หรือศาสนานิกายใดนิกายหนึ่งเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ทุก ๆ คนที่ต้องการแสวงหาและสัมผัสความสะอาด สว่าง และสงบในพุทธสภาวะ ซึ่งถือเป็นสภาวะที่เป็นสากลจักรวาล

เจดีย์ไม้ไผ่ ๘ ชั้น วัดป่าอ้อร่มเย็น

เจดีย์ไม้ไผ่ ๘ ชั้น วัดป่าอ้อร่มเย็น ออกแบบและจัดสร้างขึ้นโดยแฝงความหมายตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่อง “อัฏฐังคิกมรรค” ซึ่งแปลว่า หนทางซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ ซึ่งจัดอยู่ในหลักธรรมอริยสัจ ๔ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
อริยมรรค หรือ มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนึ่งในธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนาแก่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หลังจากที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว มรรคอันมีองค์ ๘ นี้เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตแบบสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา เพื่อให้เข้าถึงความพ้นทุกข์

ความหมายแต่ละชั้นของเจดีย์ไม้ไผ่

ชั้นที่ ๑.สัมมาทิฏฐิ คือชั้นของการมีปัญญาในการเห็นและเข้าใจที่ถูกต้อง ได้แก่การเห็นและเข้าใจในอริยสัจ ๔ คือ
§ เห็นทุกข์
§ เห็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)
§ เห็นหนทางแห่งความดับทุกข์ (นิโรธ)
§ เห็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)

ชั้นที่ ๒.สัมมาสังกัปปะ คือชั้นแห่งความดำริชอบหรือการคิดชอบ ได้แก่

§ ดำริที่จะออกจากกาม (เนกขัมมสังกัปป์)
§ ดำริในการไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น (อพยาบาทสังกัปป์)
§ ดำริในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น (อวิหิงสาสังกัป)

ชั้นที่ ๓. สัมมาวาจา คือชั้นแห่งการเจรจาชอบ ได้แก่การเว้นจากวจีทุจริต ๔ คือไม่ประพฤติชั่วทางวาจาอันได้แก่ ๔ อย่าง ได้แก่
§ ไม่พูดเท็จ (มุสาวาทา)
§ ไม่พูดส่อเสียด ยุยงให้เกิดความแตกร้าวกัน (ปิสุณวาจา)
§ ไม่พูดคำหยาบคาย (ผรุสวาจา)
§ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ (สัมผัปปลาป)
ชั้นที่ ๔. สัมมากัมมันตะ คือชั้นแห่งการกระทำชอบ คือการไม่ประพฤติผิดประเพณี ไม่ทำผิดกฏหมาย ไม่ทำผิดศีลธรรม และเว้นจากการกระทำการทุจริต ๓ อย่างได้แก่
§ การเบียดเบียนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (ปาณาติบาต)
§ การลักขโมย และฉ้อฉลคดโกง แกล้งทำลายผู้อื่น (อทินนาทาน)
§ การประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร)

ชั้นที่ ๕. สัมมาอาชีวะ คือชั้นแห่งเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การเว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เว้นมิจฉาชีพ ๕ ประการดังนี้
§ เว้นจากการค้าขายเครื่องประหารมนุษย์และสัตว์
§ เว้นจากการค้าขายมนุษย์ และการเอาเปรียบทุกชนิด
§ เว้นจากการค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร
§ เว้นจากการค้าขายน้ำเมา และสิ่งมอมเมาเสพติดทุกประเภท
§ เว้นจากการค้าขายยาพิษ
ชั้นที่ ๖. สัมมาวายามะ คือชั้นแห่งการมีความเพียรชอบ (ปธาน) ๔ ประการได้แก่
§ เพียรระวังมิให้อกุศลธรรม(การทำความชั่ว)เกิดขึ้น (สังวรปธาน)
§ เพียรละอกุศลธรรมหรือความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
§ เพียรทำกุศลธรรมหรือความดีให้เกิดขึ้น (ภาวนาปธาน)
§ เพียรรักษากุศลธรรมหรือความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ (อนุรักขนาปธาน)
ชั้นที่ ๗.สัมมาสติ คือชั้นแห่งการระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกสติปัฏฐาน ๔ ประการ ได้แก่ การระลึกในกาย เวทนา จิต และธรรม
§ พิจารณากาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้เมื่อรู้สึกสบายหรือไม่สบาย พิจารณาลมหายใจเข้าออก
§ พิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้เมื่อรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ รู้ตัวเมื่อเกิดราคะ โทสะ โมหะ และโลภะ
§ พิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้ว่าจิตกำลังตกต่ำหม่นหมอง หรือผ่องแผ้วสดใส รู้เท่าทันความนึกคิด
§ พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้ว่าอารมณ์อะไรกำลังผ่านเข้ามาในใจ
ชั้นที่ ๘. สัมมาสมาธิ คือชั้นแห่งการตั้งใจมั่นชอบ หมายถึงการทำจิตให้สงบระงับจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง การตั้งจิตให้มีอารมณ์แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้จิตจดจ่อไม่ฟุ้งซ่าน โดยการเจริญฌานทั้ง ๔
ทำไมจึงต้องเป็นเจดีย์ไม้ไผ่ ?

คุณค่าและความหมายของไม้ไผ่
๑. มีธรรมชาติที่เรียบง่าย
๒. มีความงดงามซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ
๓. มีความเป็นมิตรและสัมพันธ์กับวิถีชาวบ้านอย่างแนบแน่นมาช้านาน
๔. เป็นไม้ที่ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนบุกรุกและทำลายป่า
๕. มีราคาถูก ประหยัด หาได้ง่ายในท้องถิ่น
๖. เสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน
๗. ไผ่เป็นไม้ที่สามารถปลูกทดแทนได้ง่าย ใช้ระยะเวลาสั้น และมีประโยชน์ใช้สอยมาก
๘. คุณลักษณะของไม้ไผ่ แฝงนัยยะแห่งสัจธรรมตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๙. เพื่อเป็นเอกลัษณ์สืบต่อไปสืบต่อไป

No comments: