Monday, July 16, 2007

สำนักสงฆ์ป่าอ้อร่มเย็น

๑. ชุมชนบ้านป่าอ้อ
ผืนดินดอยที่มีสีแดงเข้มเป็นเอกลักษณ์ ดูสงบนิ่งในวันที่มีแสงแดดจ้ากลางฤดูร้อน ชาวบ้านหมู่บ้านป่าอ้อ หมู่ที่ ๖ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก ทำนาข้าว ทำสวนชะอม และ ไร่สัปปะรด พื้นที่ป่าดั้งเดิมเต็มไปด้วยต้นลิ้นจี่ป่าหรือต้นคอแลน และไม้เบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าในอดีตพื้นที่แถบนี้นับว่าเป็นดงเสือ มีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุม คนพื้นเมืองที่นี่สืบเชื้อสายคนเมืองเชียงรายแต่ดั้งเดิม มีวัฒนธรรมประเพณี สืบทอดกันมายาวนาน อัธยาศัยดีและเป็นมิตรอย่างชาวเหนือ งานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงได้แก่เครื่องปั้นดินเผาจากดอยดินแดง ที่อยู่คู่กับชุมชนป่าอ้อ มากว่า ๑๖ ปี อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ผู้ก่อตั้งดอยดินแดงเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน ได้สร้างดอยดินแดงให้เป็นมากกว่าแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี แต่ดอยดินแดงยังเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย

๒. พิธีกรรม
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนา โดยมีผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวง ดวงคำ เชื้อเจ็ดตน เป็นผู้นำ การทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านนี้เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี แต่ในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากชาวบ้านมีความตั้งใจที่จะให้พิธีสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนาเป็นการร่วมกันทำบุญครั้งแรกของการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น”
และเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ผ้าป่ากองแรกของสำนักสงฆ์ วัดป่าอ้อร่มเย็นก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการชาวบ้านและคณะศรัทธาจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมกันทำบุญ ยิ่งเป็นการแสดงถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ในการจะสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา

๓. จุดสมดุล
“ศรัทธา” เป็นคำสามัญที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ศรัทธา”นั้น ยากที่จะทำความเข้าใจ หรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัว ศรัทธามากหรือน้อยนั้นวัดไม่ได้เป็นปริมาณ เป็นเรื่องนามธรรมเป็นเรื่องความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ‘ความรู้สึกศรัทธา’

ที่หมู่บ้านป่าอ้อ ชาวบ้าน ๗๐ หลังคาเรือน กว่า ๔๐๐ คนกำลังทำให้ “ความศรัทธา”นั้นเกิดเป็นรูปเป็นร่าง ชาวบ้านกำลังจะสร้างวัด ไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านที่นี่มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมาก นั้นเป็นเพราะ “วัด” ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่จะไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นแต่ยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่รับใช้ผู้คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง “วัด” ในความหมายของพื้นที่ที่สงบ ร่มเย็น เรียบง่าย สะท้อนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมของศรัทธา หล่อเลี้ยงหมู่บ้านและชุมชนให้อยู่ในครรลองของศีลธรรมอันดี วัดที่เป็น “จุดสมดุล” ระหว่าง ศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน ธรรมะ และ ธรรมชาติ

๔. “ป่าอ้อร่มเย็น”...เย็นธรรมท่ามกลางธรรมชาติ
ทุกๆอย่าง เกี่ยวเกาะ ต่อเนื่อง และเชื่อมโยง ธรรมะก็คือธรรมชาติ
จากพุทธประวัติ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรส พระนางได้เดินทางเพื่อไปประสูติพระโอรส ณ กรุงเทวทหะ แต่เมื่อไปถึง ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นป่าที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้น ตลอดระยะเวลาหกปี ที่พระโพธิสัตว์ได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์ แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ชีวิตภายใต้ร่มไม้ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน “ธรรมะคือความเข้าใจในธรรมชาติ”

“วัดป่าอ้อร่มเย็น” ร่มไม้จะเป็นร่มธรรม เป็นที่พักพิงให้แก่จิตใจที่ร้อนรุ่ม ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สะอาด สงบ เรียบง่าย และร่มเย็น “วัดป่าอ้อร่มเย็น” เกิดจากศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนา เพราะเราเชื่อว่าความเข้าใจในธรรมชาตินั้นจะน้อมนำจิตใจของผู้คนให้ไปสู่สิ่งที่ดีงาม

๕. ศิลปะกับชีวิต
จากมงคล ๓๘ ประการในข้อที่ ๘ ว่าด้วย การมีศิลปะ(สิปฺปญฺ จ)
ศิลปะคือความงาม ศิลปะคือชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่สอดประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การมีศิลปะนั้นเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นความเคารพต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ศิลปะกับชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การสืบทอดและความต่อเนื่องนั้นขึ้นอยู่กับผู้คนในชุมชนที่มีเข้าใจและใช้ชีวิตตามครรลองอันดีงาม ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร วัฒนธรรมที่มีพลวัตรนั้นก็จะยังคงสะท้อนความงามของการมีชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ
“อุดมคติ” เป็นเหมือนสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเอื้อมไปไม่ถึงในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนและความขัดแย้ง แต่ “อุดมคติ” ก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆจาก“ศรัทธา” และความร่วมมือร่วมใจ “วัดป่าอ้อร่มเย็น” จะเป็นตัวแทนของสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นจากจิตใจอันบริสุทธิ์ของชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย
สิ่งที่คณะศรัทธาวัดป่าอ้อร่มเย็น คำนึงถึงเป็นอย่างมากก็คือการออกแบบศาสนสถานที่เป็นไปตามครรลองสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ศาสนสถานที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ อย่างมีศิลปะ รูปแบบของวิหารแบบล้านนาโบราณเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจ การวางผังโดยรวมที่เน้นความเรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอยที่สะอาด และ สมถะให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ และเพียงพอต่อการใช้สอยรองรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวบ้านในชุมชน รูปแบบอันเรียบง่ายยังแสดงออกถึงสาระในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

No comments: