Monday, November 16, 2009

เสื้อยืดสีขาวคอกลมรุ่นแรก "สานเจดีย์ 52"

เสื้อยืดสีขาวคอกลมรุ่นแรก "สานเจดีย์ 52" 

เสื้อยีดคอกลมสีขาว ไซส์  s-m-l-xl (แบบมาตรฐานเสื้อยืดทั่วๆไป)
มีสองสี คือ สกรีนสีเขียวเข้มกับสีน้ำตาลเข้ม (ดูภาพประกอบในไฟล์แนบได้ครับ)

วิธีการสั่งซื้อ คือ กรอกข้อมูลดังนี้ ส่งอีเมลมาที่ angkrit@gmail.com 

ชื่อ....นามสกุล....
ที่อยู่ติดต่อทางไปรษณีย์.....
เบอร์โทร......อีเมล......
จำนวนเสื้อ.......
ขนาด(size)........

หลังจากผมได้ข้อมูลการสั่งจองของท่านแล้ว ผมจะแจ้งยืนยันพร้อมข้อมูลการโอนเงิน  
จากนั้นท่านไปโอนเงิน แล้ว อีเมลกลับมาบอก วันที่+เวลา โอนเงิน (มีอยู่ในสลิป) 
ผมจะจัดส่งให้เร็วที่สุดครับ

ราคาเสื้อตัวละ 200 บาท รวมค่าจัดส่ง 
มีจำนวนจำกัดเพียง 100 ตัว คละไซส์ ส่วนที่เหลือเอาไว้ขายหน้างานสำหรับคนที่จะมาร่วมสานเจดีย์ที่เชียงราย ไม่ต้องสั่งซื้อครับ มาเอาที่นี่ 
เสื้อจะพร้อมส่งตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป 

(เงินทุกบาทเข้าวัดทำบุญร่วมกันครับ) 
ปล.ท่านจะช่วยได้มาก หากรวบรวมกับเพื่อนๆ สั่งครั้งเดียวหลายๆตัว แล้วท่านไปแจกจ่ายกันเอง 

ขอบคุณมากครับ

อังกฤษ โทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 086-911-5331


ขอเชิญท่านร่วมงาน "สานใจสานเจดีย์ไม้ไผ่สานต่อพระพุทธศานา"

ขอเชิญท่านร่วมงาน สานใจสานเจดีย์ไม้ไผ่สานต่อพระพุทธศานา  

นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการจัดสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ด้วยไม้ไผ่ลงรัก ปิดทอง สูง 18 เมตร ตามอย่างวิธีการโบราณ ในการนี้คณะศรัทธาวัดป่าอ้อร่มเย็นได้นิมนต์พระสงฆ์ชาวพม่าผู้มีความเชี่ยวชาญในเทคนิคมาร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัตการ กับชาวบ้านที่เป็นคณะศรัทธาและอาสาสมัครที่สนใจในงานสานเจดีย์ไม้ไผ่จะจัด ขึ้นที่วัดป่าอ้อร่มเย็น บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

หมายกำหนดการมีดังนี้

1-20 พฤศจิกายน เริ่มสร้างฐานรากพระเจดีย์

20 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม เริ่มสร้างโครงสร้างเหล็กเส้นพระเจดีย์

5 ธันวาคม-31 ธันวาคม ร่วมแรงร่วมใจ สานพระเจดีย์ด้วยไม้ไผ่

17 ธันวาคม คอนเสิร์ตการกุศล “สานใจสานเจดีย์ไม้่ไผ่สานต่อพระพุทธศาสนา” โดยวงศิลปากรออเครสต้า นำโดยอาจารย์ทัศนา นาควัชระ การแสดงการเต้นร่วมสมัย โดยศิลปินชาวเชียงรายคุณแววดาว ศิริสุข  นิทรรศการประติมากรรมไม้ไผ่โดยประติมากรชั้นเยี่ยมของประเทศไทย สมทบทุนวัดป่าอัอร่มเย็น   

1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์
ขัดผิว ลงรัก ปิดทององค์พระเจดีย์

ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระบูชาจำนวน 84000 องค์

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ (ผู้ประสานงาน)
โทรศัพท์ 086-911-5331 อีเมล : angkrit@gmail.com
http://watromyen.blogspot.com

 

เกี่ยวกับวัดป่าอ้อร่มเย็น

วัดกับชุมชน

หมู่บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และสมัครสมานสามัคคี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร และสำนึกในพระบารมี
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทว่าในอดีตที่ผ่านมา หมู่บ้านป่าอ้อยังไม่มีวัดอันเป็นศาสนสถานประจำพระพุทธศาสนา ทำให้คณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องเดินทางไปทำบุญยังวัดที่อยู่ห่างไกล จึงไม่สะดวกและปลอดภัยในการเดินทางสัญจรไปมาเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เองคณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาหมู่บ้านป่าอ้อ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีจิตศรัทธาอันแรงกล้าที่จะร่วมกันประกอบกุศลบุญ
ครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เป็นวัดประจำหมู่บ้านขึ้น โดยถือเอารูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดแบบล้านนาโบราณ ที่มีเอกลักษณ์งดงามทว่าเรียบง่าย ภายใต้บรรยากาศที่สงบเงียบ ร่มรื่น เหมาะสมกับการปฏิบัติศาสนากิจและวิถีชีวิตของชาวล้านนาอย่างแท้จริง

 

คุณค่าและความหมายของไม้ไผ่

๑. มีธรรมชาติที่เรียบง่าย

๒. มีความงดงามซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ

๓. มีความเป็นมิตรและสัมพันธ์กับวิถีชาวบ้านอย่างแนบแน่นมาช้านาน

๔. เป็นไม้ที่ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนบุกรุกและทำลายป่า

๕. มีราคาถูก ประหยัด หาได้ง่ายในท้องถิ่น

๖. เสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน

๗. ไผ่เป็นไม้ที่สามารถปลูกทดแทนได้ง่ายใช้ระยะเวลาสั้นและมีประโยชน์มาก

๘. คุณลักษณะของไม้ไผ่ แฝงนัยยะแห่งสัจธรรมตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๙. เพื่อเป็นเอกลัษณ์สืบต่อไปสืบต่อไป

 

วัดป่าอ้อร่มเย็น

๑. ชุมชนบ้านป่าอ้อ

ผืนดินดอยที่มีสีแดงเข้มเป็นเอกลักษณ์ ดูสงบนิ่งในวันที่มีแสงแดดจ้ากลางฤดูร้อน ชาวบ้านหมู่บ้านป่าอ้อ หมู่ที่ ๖ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก ทำนาข้าว ทำสวนชะอม และ ไร่สัปปะรด พื้นที่ป่าดั้งเดิมเต็มไปด้วยต้นลิ้นจี่ป่าหรือต้นคอแลน และไม้เบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า
ในอดีตพื้นที่แถบนี้นับว่าเป็นดงเสือ มีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุม คนพื้นเมืองที่นี่สืบเชื้อสายคนเมืองเชียงรายแต่ดั้งเดิม มีวัฒนธรรมประเพณี สืบทอดกันมายาวนาน อัธยาศัยดีและเป็นมิตรอย่างชาวเหนือ งานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงได้แก่เครื่องปั้นดินเผาจากดอยดินแดง ที่อยู่คู่กับชุมชนป่าอ้อ มากว่า ๑๖ ปี อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ผู้ก่อตั้งดอยดินแดงเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน ได้สร้างดอยดินแดงให้เป็นมากกว่า
แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี แต่ดอยดินแดงยังเป็นแหล่งผลิตบุคลากร
ทางด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย

 

๒. พิธีกรรม

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนา โดยมีผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวง ดวงคำ เชื้อเจ็ดตน เป็นผู้นำ การทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านนี้เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี แต่ในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากชาวบ้านมีความตั้งใจที่จะให้พิธีสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนาเป็นการร่วมกัน
ทำบุญครั้งแรกของการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น”และเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ผ้าป่ากองแรกของสำนักสงฆ์วัดป่าอ้อร่มเย็นก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการชาวบ้านและคณะศรัทธาจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมกันทำบุญยิ่งเป็นการแสดงถึงความตั้งใจ
อันแน่วแน่ในการจะสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา

 

๓. จุดสมดุล

“ศรัทธา” เป็นคำสามัญที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ศรัทธา”นั้นยากที่จะทำความเข้าใจหรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัวศรัทธามากหรือน้อยนั้นวัดไม่ได้เป็นปริมาณเป็นเรื่องนามธรรมเป็นเรื่องความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ‘ความรู้สึกศรัทธา’ ที่หมู่บ้านป่าอ้อ ชาวบ้าน ๗๐ หลังคาเรือน กว่า ๔๐๐ คนกำลังทำให้ “ความศรัทธา”นั้นเกิดเป็นรูปเป็นร่าง ชาวบ้านกำลังจะสร้างวัดไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านที่นี่มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมากนั้นเป็นเพราะ“วัด”ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่จะไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นแต่ยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่รับใช้ผู้คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง “วัด” ในความหมายของพื้นที่ที่สงบ ร่มเย็น เรียบง่าย
สะท้อนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมของศรัทธา หล่อเลี้ยงหมู่บ้านและชุมชนให้อยู่ในครรลองของศีลธรรมอันดี วัดที่เป็น “จุดสมดุล” ระหว่าง ศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน ธรรมะ และ ธรรมชาติ

 

๔. “ป่าอ้อร่มเย็น”...เย็นธรรมท่ามกลางธรรมชาติ

ทุกๆอย่าง เกี่ยวเกาะ ต่อเนื่องและเชื่อมโยงธรรมะก็คือธรรมชาติ
จากพุทธประวัติเมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรสพระ
นางได้เดินทางเพื่อไปประสูติพระโอรส ณ กรุงเทวทหะแต่เมื่อไปถึงลุมพินีวันซึ่งเป็นป่าที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้น ตลอดระยะเวลาหกปี ที่พระโพธิสัตว์ได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์ แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ชีวิตภายใต้ร่มไม้ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน “ธรรมะคือความเข้าใจในธรรมชาติ”

“วัดป่าอ้อร่มเย็น” ร่มไม้จะเป็นร่มธรรม เป็นที่พักพิงให้แก่จิตใจที่ร้อนรุ่ม ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สะอาด สงบ เรียบง่าย และร่มเย็น “วัดป่าอ้อร่มเย็น” เกิดจากศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนา เพราะเรา
เชื่อว่าความเข้าใจในธรรมชาตินั้นจะน้อมนำจิตใจของผู้คนให้ไปสู่สิ่งที่ดีงาม

 

๕. ศิลปะกับชีวิต

จากมงคล ๓๘ ประการในข้อที่ ๘ ว่าด้วย การมีศิลปะ(สิปฺปญฺ จ)

ศิลปะคือความงาม ศิลปะคือชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่สอดประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การมีศิลปะนั้นเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นความเคารพต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ศิลปะกับชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนไปตามยุค
สมัยการสืบทอดและความต่อเนื่องนั้นขึ้นอยู่กับผู้คนในชุมชนที่มีเข้าใจและใช้ชีวิตตามครรลองอันดีงาม ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร วัฒนธรรมที่มีพลวัตรนั้นก็จะยังคงสะท้อนความงามของการมีชีวิตที่สอดคล้องกับวิถี
ของธรรมชาติ

“อุดมคติ” เป็นเหมือนสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเอื้อมไปไม่ถึงในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนและความขัดแย้ง แต่ “อุดมคติ” ก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆจาก“ศรัทธา” และความร่วมมือร่วมใจ “วัดป่าอ้อร่มเย็น”จะเป็นตัวแทนของสิ่งดีงาม
ที่เกิดขึ้นจากจิตใจอันบริสุทธิ์ของชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

สิ่งที่คณะศรัทธาวัดป่าอ้อร่มเย็น คำนึงถึงเป็นอย่างมากก็คือการออกแบบศาสนสถานที่เป็นไปตามครรลองสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ศาสนสถานที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ อย่างมีศิลปะ รูปแบบของวิหารแบบล้านนาโบราณเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจ การวางผังโดยรวมที่เน้นความเรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอยที่สะอาด และ สมถะให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ และเพียงพอต่อการใช้สอยรองรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวบ้านในชุมชน รูปแบบอันเรียบง่ายยังแสดงออกถึงสาระในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย




...............................



มีคำถามถามว่าถ้าเป็นเจดีย์ไม่ไผ่ อายุการใช้งานก็น้อยต้องบูรณะใหม่บ่อย ๆ หรือเปล่า ทำไมต้องใช้ไม่ไผ่ด้วย ?


คุณอภิวัฒน์ ธันยานนท์ (ผู้เชี่ยวชาญสถาปัยกรรมไทยล้านนา) กล่าวไว้ว่า 


Apiwat Thanyanont
ถ้าใช้แนวทางการอนุรักษ์แบบญี่ปุ่น คือ 20 ปีรื้อทำใหม่โดยคงรูปแบบเดิมไว้ ก็วิเศษเลย นอกจากนั้นยังวางแผนปลูกป่าไผ่ไว้เป็นวัตถุดิบในอนาคต อันนี้ยอดเยี่ยมลงตัว การสร้างพระพิมพ์จำนวน 84,000 องค์บรรจุลงไหแล้วประดิษฐานในพระเจดีย์ ตรงนี้เราอยากแนะนำว่า เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปีถึงคราวแห่งการบูรณะ ให้นำ 84,000 องค์นั้นออกมาให้ประชาชนเช่าบูชา เป็นพระพิมพ์จากกรุพระเจดีย์รุ่นปี...อะไรก็ว่าไป จัดพิธีสมโภชเฉลิมฉลองเป็นงานปอยหลวง แล้วสร้าง 84,000 องค์ใหม่บรรจุเข้าไป เราอาจได้ทุนทรัพย์จำนวนหนึงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะครั้งต่อไป ... ขอให้โครงการนี้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยดี อนุโมทนา :)"








--
อังกฤษแกลลอรี่ 99 หมู่ 2 พหลโยธิน นางแล เชียงราย 57100
angkritgallery 99 M2 Pahonyotin, Nanglae, ChiangRai, THAILAND 57100 http://angkritgallery.com