Monday, July 16, 2007

สำนักสงฆ์ป่าอ้อร่มเย็น

แบบร่างสิ่งปลูกสร้าง

แบบร่างเจดีย์ไม้ไผ่


ศาลาเอนกประสงค์
แปลนสำนักสงฆ์ป่าอ้อร่มเย็น







แบบร่างแปลนโดยอาจาย์สมลักษณ์ ปัณติบุญ

แบบร่างขันดอกโดย อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง
แบบร่างกุฏิเอนกประสงค์






ภาพจำลองสำนักสงฆ์ป่าอ้อร่มเย็น


โครงสร้างเจดีย์ไม้ไผ่







วัดกับชุมชน

หมู่บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และสมัครสมานสามัคคี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร และสำนึกในพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทว่าในอดีตจวบจนปัจจุบันพบว่า หมู่บ้านป่าอ้อยังไม่มีวัดอันเป็นศาสนสถานประจำพระพุทธศาสนา ทำให้คณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องเดินทางไปทำบุญยังวัดที่อยู่ห่างไกล จึงไม่สะดวกและปลอดภัยในการเดินทางสัญจรไปมาเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เองคณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาหมู่บ้านป่าอ้อ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีจิตศรัทธาอันแรงกล้าที่จะร่วมกันประกอบกุศลบุญครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เป็นวัดประจำหมู่บ้านขึ้น โดยถือเอารูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดแบบล้านนาโบราณ ที่มีเอกลักษณ์งดงามทว่าเรียบง่าย ภายใต้บรรยากาศที่สงบเงียบ ร่มรื่น เหมาะสมกับการปฏิบัติศาสนากิจและวิถีชีวิตของชาวล้านนาอย่างแท้จริง
วิถีบ้านป่าอ้อ จากธรรมชาติสู่ธรรมะ

บ้านป่าอ้อเป็นชุมชนคนเชียงรายที่มีวิถีการผลิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติมาโดยตลอดถึงแม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆใกล้เมืองก็ตาม แม้ว่าความคิดของคนทั่วไปมักมองว่าหมู่บ้านในประเทศไทยมีลักษณะเหมือนๆกันแต่ความจริงแล้วหมู่บ้านที่เป็นหน่วยการปกครองเล็กๆมีความแตกต่างในอัตลักษณ์ทุกแห่ง หมู่บ้านป่าอ้อแห่งนี้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง การที่มีมุมมองจากผู้คนที่มีวิถีการผลิตแบบสังคมเมืองมักคุ้นเคยกับธรรมชาติที่ปรุงแต่งแล้วเช่น น้ำในชีวิตประจำวันวิถีเมืองน้ำต้องได้รับการปรุงแต่งจากธรรมชาติแล้วสู่ผู้คนในท้ายที่ สุดทำให้ไม่เห็นความจริงของน้ำ พลังของน้ำและ ความงดงามของน้ำ ทำให้น้ำไม่มีชีวิตในวัฒนธรรมเมือง แต่สำหรับหมู่บ้านที่มีชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติไม่เพียงจะเห็น ชีวิตของน้ำได้ จะเห็นว่าธรรมชาตินั้นมีพลังอำนาจมากมายที่จะให้คุณและโทษหากเราไม่ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ
วิถีการผลิตของหมู่บ้านสอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินชีวิตการปลูกข้าวก็เพื่อความเพียงพอกับการบริโภคในแต่ละปีของครอบครัว ที่ดินไม่ได้มีไว้เพื่อการผลิตแต่ยังคงไว้ซึ่งความงามของคันนา และสวนผลไม้ความประสานกลมกลืนของต้นไม้ที่ได้ผ่านประสบการณ์ความงามตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมมาแล้ว การเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน เมือผลผลิตมีส่วนเกินก็นำไปจำหน่ายในตลาดของหมู่บ้านซึ่งจะราคาถูกว่าและสดกว่าในตลาดข้างนอก เงินทองหมุนเวียนในหมู่บ้าน อุดมการณ์เชิง คุณค่า ความเชื่อ และค่านิยมของพุทธศาส- นิกชนบ้านป่าอ้อที่ยังคงมีความหลงเหลือความเชื่อดั้งเดิมในการรักรักษาธรรมชาติ เช่นการสืบชะตาหมู่บ้าน การจัดพิธีส่งเคราะห์ในแต่ละปี ความรู้เรื่องพืชสมุนไพร ความสัมพันธ์ระห่างมนุษย์กับสัตว์และแมลงในวิถีชีวิต ถ้ามีข้าวกินแล้วเรื่องกับข้าวมีอยู่ทั่ว ไปตามฤดูกาล
มนุษย์นั้นมีมุมองที่คิดว่าธรรมชาติเป็นสิ่งอื่นเป็นสิ่งที่แปลก ปลอมในชีวิตต้องนำมาปรุงแต่งและคิดว่าเป็นสินค้า ธรรมชาติจึงถูกมนุษย์ให้ความหมายที่ห่างไกลตัวมนุษย์ไปทุกขณะ และเราอาจพบว่าไกลที่สุดของความหมายที่มนุษย์ปรุงแต่งให้กับธรรม- ชาติก็คือตัวธรรมชาติเอง และสุดพรมแดนของความรู้ ความจริง ความดีและความงาม ของมนุษย์ก็อยู่ที่ตัวมนุษย์เช่นกัน ดังนั้นจุดเริ่มต้นก็คือจุดสุดท้ายหรือจุดสิ้นสุดการค้นหา ศาสตร์ต่างในโลกนี้ไม่ไปไกลเกินกว่ามนุษย์และธรรมชาติ บ้านป่าอ้อจึงได้ตั้งชื่อศาสนสถานว่า ป่าอ้อร่มเย็น เพื่อเป็นภาพสะท้อนความสว่าง สะอาดสงบ ร่มรื่นในธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนาและปรินิพานในป่ามาตลอดพระชนม์ชีพคือชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและธรรมะที่เป็นวิถีบ้านป่าอ้อ

แนวคิดหลักในการสร้างสำนักสงฆ์ป่าอ้อร่มเย็น

การสร้างสำนักสงฆ์ป่าอ้อร่วมเย็น อาศัยแนวความคิดหลัก ๔ ประการดังนี้
๑. ธรรมะ
๒. ธรรมชาติ
๓. ศิลปะ
๔. ศรัทธา

หลักที่ ๑. ธรรมะ หมายถึง พระธรรมคำสอนตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ซึ่งเน้นการพัฒนาตนอย่างครบถ้วน ทั้ง ๓ ด้านคือ

- การพัฒนาด้านศีล คือพัฒนาทางกายภาพและความเป็นอยู่ การดำรงชีพอย่างสุจริต การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน การเสียสละ และการตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี เพื่อความสงบร่มเย็นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

- การพัฒนาด้านสมาธิ คือการพัฒนาจิตใจ ตั้งจิตเป็นกุศล มีความระลึกชอบ และตั้งมั่นอยู่ในสติและสมาธิ

- การพัฒนาด้านปัญญา คือการพัฒนาตนให้เกิดปัญญาที่จะเข้าใจและรู้แจ้งถึงอริยสัจ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

หลักที่ ๒. ธรรมชาติ หมายถึง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างเป็นองค์รวม กล่าวคือ

- ธรรมชาติมีผลต่อสุขภาพกาย : สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของป่าและต้นไม้ คุณภาพของอากาศ และความสมดุลของฤดูกาล ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วย การทำมาหากินของคนทุกอาชีพ ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเสียสมดุลของธรรมชาติ เช่น อากาศที่ร้อนหรือหนาวผิดปกติ คุณภาพออกซิเจนที่ลดลง ความแห้งแล้ง น้ำป่า น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว และการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่ทำลายทั้งมนุษย์และสัตว์ เหล่านี้ล้วนเกิดจากความโลภของมนุษย์ที่ผลาญและทำลายธรรมชาติจนในที่สุดส่งผลย้อนกลับมากระทบตัวเอง

- ธรรมชาติมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก : สิ่งแวดล้อมย่อมมีอิทธิพลและเป็นตัวกระตุ้นประสาทรับรู้ หรือ อายตนะ (ทั้งภายนอกและภายใน : ตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส และกายได้สัมผัส) การรับรู้จากทุกอายตนะล้วนมีผลต่อสภาวะอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบ หากสิ่งแวดล้อมมีการปรุงแต่งให้ห่างไกลจากความเรียบง่ายตามธรรมชาติมากเกินไป ประสาทรับรู้ก็จะถูกกระตุ้นให้เกิดกิเลสได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย เช่น ยิ่งตกแต่งประดับประดามาก ก็จะยิ่งเกิดความโลภไม่รู้จักพอมากขึ้น ยิ่งตกแต่งด้วยของมีค่ามาก ก็จะก่อให้เกิดความวิตกระแวงและเกิดโทสะตามมา ยิ่งตกแต่งด้วยถาวรวัตถุมาก ก็จะยิ่งทำให้ยึดติดและไม่เข้าใจธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลง(ไตรลักษณ์)

- ธรรมชาติมีผลต่อการพัฒนาสมาธิ : ธรรมชาติที่สงบ ร่มเย็น และเรียบง่าย จะทำให้จิตใจเกิดความสงบ ความสงบเป็นบ่อเกิดของสมาธิ และการพัฒนาสมาธิอย่างต่อเนื่องจะทำให้บุคคลสามารถดำรงสติ มีวิจารณญาณ สามารถพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และแก้ปัญหาต่อเรื่องราวและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างสุขุม รอบคอบ ด้วยสันติวิธี

- ธรรมชาติมีผลต่อปัญญา : เมื่อร่างกาย อารมณ์จิตใจ สมาธิและสติ มีความแข็งแรง มั่นคงและสมดุล การพัฒนาทางปัญญาเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งถึงพระธรรมและความหมายที่แท้ของชีวิตจึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาสูงสุด


หลักที่ ๓. ศิลปะ ศิลปะ ความงดงาม สุนทรียภาพ การออกแบบก่อสร้าง และการตกแต่งวัดป่าอ้อร่มเย็น จะต้องสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ และมีนัยยะแฝงหลักธรรมอยู่ในความหมายของการออกแบบแต่ละจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวสถาปัตยกรรมและการจัดสิ่งแวดล้อม จะยึดหลักธรรม ๓ ประการคือ สะอาด สว่าง และสงบ
- สะอาด คือ ความสะอาด เรียบร้อย เจริญตา และความสอดคล้องกลมกลืนกัน เพื่อให้ศิลปะทำหน้าที่ชำระจิตใจของเราให้สะอาด

- สว่าง คือ การออกแบบที่คำนึงถึงแสงสว่างจากธรรมชาติ อากาศถ่ายเทสะดวก เกิดประโยชน์ใช้สอดคล้องเหมาะสม มีการรักษาสมดุลธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกป่าและต้นไม้รอบบริเวณวัด เพื่อเพิ่มก๊าซออกซิเจนในอากาศ และช่วยรักษาหน้าดิน ซึ่งความสอดคล้องกลมกลืนของศิลปะและธรรมชาติ จะช่วยให้จิตใจของเราเกิดความสว่างผ่องใส

- สงบ คือ การออกแบบที่คำนึงถึงบรรยากาศแห่งความสงบวิเวก ไม่ก่อเสียงอึกทึกรบกวนสภาวะจิตในการภาวนา ไม่ประดับตกแต่งมากจนเกินไป จนเกิดความรกกาย รกใจ ทำให้เกิดกิเลสปรุงแต่ง จนเป็นผลให้จิตห่างไกลจากความสงบ


๔. ศรัทธา หมายถึงศาสนิกชนที่ศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ศรัทธาในที่นี้หมายรวมถึงคนในชุมชมบ้านป่าอ้อ ท้องถิ่นเชียงราย และศรัทธาจากที่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีความหมายที่เปิดกว้าง ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวพุทธ หรือศาสนานิกายใดนิกายหนึ่งเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ทุก ๆ คนที่ต้องการแสวงหาและสัมผัสความสะอาด สว่าง และสงบในพุทธสภาวะ ซึ่งถือเป็นสภาวะที่เป็นสากลจักรวาล

เจดีย์ไม้ไผ่ ๘ ชั้น วัดป่าอ้อร่มเย็น

เจดีย์ไม้ไผ่ ๘ ชั้น วัดป่าอ้อร่มเย็น ออกแบบและจัดสร้างขึ้นโดยแฝงความหมายตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่อง “อัฏฐังคิกมรรค” ซึ่งแปลว่า หนทางซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ ซึ่งจัดอยู่ในหลักธรรมอริยสัจ ๔ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
อริยมรรค หรือ มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนึ่งในธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนาแก่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หลังจากที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว มรรคอันมีองค์ ๘ นี้เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตแบบสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา เพื่อให้เข้าถึงความพ้นทุกข์

ความหมายแต่ละชั้นของเจดีย์ไม้ไผ่

ชั้นที่ ๑.สัมมาทิฏฐิ คือชั้นของการมีปัญญาในการเห็นและเข้าใจที่ถูกต้อง ได้แก่การเห็นและเข้าใจในอริยสัจ ๔ คือ
§ เห็นทุกข์
§ เห็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)
§ เห็นหนทางแห่งความดับทุกข์ (นิโรธ)
§ เห็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)

ชั้นที่ ๒.สัมมาสังกัปปะ คือชั้นแห่งความดำริชอบหรือการคิดชอบ ได้แก่

§ ดำริที่จะออกจากกาม (เนกขัมมสังกัปป์)
§ ดำริในการไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น (อพยาบาทสังกัปป์)
§ ดำริในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น (อวิหิงสาสังกัป)

ชั้นที่ ๓. สัมมาวาจา คือชั้นแห่งการเจรจาชอบ ได้แก่การเว้นจากวจีทุจริต ๔ คือไม่ประพฤติชั่วทางวาจาอันได้แก่ ๔ อย่าง ได้แก่
§ ไม่พูดเท็จ (มุสาวาทา)
§ ไม่พูดส่อเสียด ยุยงให้เกิดความแตกร้าวกัน (ปิสุณวาจา)
§ ไม่พูดคำหยาบคาย (ผรุสวาจา)
§ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ (สัมผัปปลาป)
ชั้นที่ ๔. สัมมากัมมันตะ คือชั้นแห่งการกระทำชอบ คือการไม่ประพฤติผิดประเพณี ไม่ทำผิดกฏหมาย ไม่ทำผิดศีลธรรม และเว้นจากการกระทำการทุจริต ๓ อย่างได้แก่
§ การเบียดเบียนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (ปาณาติบาต)
§ การลักขโมย และฉ้อฉลคดโกง แกล้งทำลายผู้อื่น (อทินนาทาน)
§ การประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร)

ชั้นที่ ๕. สัมมาอาชีวะ คือชั้นแห่งเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การเว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เว้นมิจฉาชีพ ๕ ประการดังนี้
§ เว้นจากการค้าขายเครื่องประหารมนุษย์และสัตว์
§ เว้นจากการค้าขายมนุษย์ และการเอาเปรียบทุกชนิด
§ เว้นจากการค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร
§ เว้นจากการค้าขายน้ำเมา และสิ่งมอมเมาเสพติดทุกประเภท
§ เว้นจากการค้าขายยาพิษ
ชั้นที่ ๖. สัมมาวายามะ คือชั้นแห่งการมีความเพียรชอบ (ปธาน) ๔ ประการได้แก่
§ เพียรระวังมิให้อกุศลธรรม(การทำความชั่ว)เกิดขึ้น (สังวรปธาน)
§ เพียรละอกุศลธรรมหรือความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
§ เพียรทำกุศลธรรมหรือความดีให้เกิดขึ้น (ภาวนาปธาน)
§ เพียรรักษากุศลธรรมหรือความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ (อนุรักขนาปธาน)
ชั้นที่ ๗.สัมมาสติ คือชั้นแห่งการระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกสติปัฏฐาน ๔ ประการ ได้แก่ การระลึกในกาย เวทนา จิต และธรรม
§ พิจารณากาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้เมื่อรู้สึกสบายหรือไม่สบาย พิจารณาลมหายใจเข้าออก
§ พิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้เมื่อรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ รู้ตัวเมื่อเกิดราคะ โทสะ โมหะ และโลภะ
§ พิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้ว่าจิตกำลังตกต่ำหม่นหมอง หรือผ่องแผ้วสดใส รู้เท่าทันความนึกคิด
§ พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ระลึกได้ว่าอารมณ์อะไรกำลังผ่านเข้ามาในใจ
ชั้นที่ ๘. สัมมาสมาธิ คือชั้นแห่งการตั้งใจมั่นชอบ หมายถึงการทำจิตให้สงบระงับจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง การตั้งจิตให้มีอารมณ์แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้จิตจดจ่อไม่ฟุ้งซ่าน โดยการเจริญฌานทั้ง ๔
ทำไมจึงต้องเป็นเจดีย์ไม้ไผ่ ?

คุณค่าและความหมายของไม้ไผ่
๑. มีธรรมชาติที่เรียบง่าย
๒. มีความงดงามซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ
๓. มีความเป็นมิตรและสัมพันธ์กับวิถีชาวบ้านอย่างแนบแน่นมาช้านาน
๔. เป็นไม้ที่ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนบุกรุกและทำลายป่า
๕. มีราคาถูก ประหยัด หาได้ง่ายในท้องถิ่น
๖. เสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน
๗. ไผ่เป็นไม้ที่สามารถปลูกทดแทนได้ง่าย ใช้ระยะเวลาสั้น และมีประโยชน์ใช้สอยมาก
๘. คุณลักษณะของไม้ไผ่ แฝงนัยยะแห่งสัจธรรมตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๙. เพื่อเป็นเอกลัษณ์สืบต่อไปสืบต่อไป

สารจากพ่อหลวงดวงคำ เชื้อเจ็ดตน

เนื่องจากบ้านป่าอ้อ หมู่ ๖ ตำบลนางแล มีความเชื่อในศาสนาพุทธ มาตั้งแต่ดั้งเดิมสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว พ่อแม่พี่น้องได้เดินทางไปแสวงหาในการทำบุญตามวัดต่างๆ เพื่อที่จะอุทิศส่วนกุศลไปหายังสรรพสิ่ง ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว และยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจของพุทธศาสนาในองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำให้มีจิตใจอ่อนโยน มีความเมตตารักผู้อื่นเหมือนรักตัวเอง ดังนั้นการสร้างวัดเป็นจิตศรัทธาอันแรงกล้าของชุมชนและบุคคลทั่วไปที่ได้มีส่วนร่วมกันสร้างวัดนั้น
วัตถุประสงค์ เพื่อสืบทอดประเพณี พื้นบ้านอนุรักษ์วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธให้เป็นมรดกตกสืบทอดกันไป และในการสร้างวัดขึ้นมา พุทธศาสนิกชนจะต้องมีความอดทน ต่อสิ่งแวดล้อม มีความมานะอุตสาหะ ตามสติกำลังที่พอจะทำได้ ในการสร้างสาธารณะสถานให้มีความร่มเย็นในพระธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เทอญ

พ่อหลวงดวงคำ เชื้อเจ็ดตน
ผู้ใหญ่บ้านป่าอ้อ หมู่ ๖ ตำบลนางแล

วิถีบ้านป่าอ้อ จากธรรมชาติสู่ธรรมะ

บ้านป่าอ้อเป็นชุมชนคนเชียงรายที่มีวิถีการผลิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติมาโดยตลอดถึงแม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆใกล้เมืองก็ตาม แม้ว่าความคิดของคนทั่วไปมักมองว่าหมู่บ้านในประเทศไทยมีลักษณะเหมือนๆกันแต่ความจริงแล้วหมู่บ้านที่เป็นหน่วยการปกครองเล็กๆมีความแตกต่างในอัตลักษณ์ทุกแห่ง หมู่บ้านป่าอ้อแห่งนี้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง
การที่มีมุมมองจากผู้คนที่มีวิถีการผลิตแบบสังคมเมืองมักคุ้นเคยกับธรรมชาติที่ปรุงแต่งแล้วเช่น น้ำในชีวิตประจำวันวิถีเมืองน้ำต้องได้รับการปรุงแต่งจากธรรมชาติแล้วสู่ผู้คนในท้ายที่สุดทำให้ไม่เห็นความจริงของน้ำ พลังของน้ำและ ความงดงามของน้ำ ทำให้น้ำไม่มีชีวิตในวัฒนธรรมเมือง แต่สำหรับหมู่บ้านที่มีชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติไม่เพียงจะเห็น ชีวิตของน้ำได้ จะเห็นว่าธรรมชาตินั้นมีพลังอำนาจมากมายที่จะให้คุณและโทษหากเราไม่ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ
วิถีการผลิตของหมู่บ้านสอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินชีวิตการปลูกข้าวก็เพื่อความเพียงพอกับการบริโภคในแต่ละปีของครอบครัว ที่ดินไม่ได้มีไว้เพื่อการผลิตแต่ยังคงไว้ซึ่งความงามของคันนา และสวนผลไม้ความประสานกลมกลืนของต้นไม้ที่ได้ผ่านประสบการณ์ความงามตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมมาแล้ว การเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน เมือผลผลิตมีส่วนเกินก็นำไปจำหน่ายในตลาดของหมู่บ้านซึ่งจะราคาถูกว่าและสดกว่าในตลาดข้างนอก เงินทองหมุนเวียนในหมู่บ้าน
อุดมการณ์เชิงคุณค่า ความเชื่อ และค่านิยมของพุทธศาสนิกชนบ้านป่าอ้อที่ยังคงมีความหลงเหลือความเชื่อดั้งเดิมในการรักรักษาธรรมชาติ เช่นการสืบชะตาหมู่บ้าน การจัดพิธีส่งเคราะห์ในแต่ละปี ความรู้เรื่องพืชสมุนไพร ความสัมพันธ์ระห่างมนุษย์กับสัตว์และแมลงในวิถีชีวิตถ้ามีข้าวกินแล้วเรื่องกับข้าวมีอยู่ทั่วไปตามฤดูกาล
มนุษย์นั้นมีมุมองที่คิดว่าธรรมชาติเป็นสิ่งอื่นเป็นสิ่งที่แปลกปลอมในชีวิตต้องนำมาปรุงแต่งและคิดว่าเป็นสินค้า ธรรมชาติจึงถูกมนุษย์ให้ความหมายที่ห่างไกลตัวมนุษย์ไปทุกขณะ และเราอาจพบว่าไกลที่สุดของความหมายที่มนุษย์ปรุงแต่งให้กับธรรมชาติ ก็คือตัวธรรมชาติเอง และสุดพรมแดนของความรู้ ความจริง ความดีและความงาม ของมนุษย์ก็อยู่ที่ตัวมนุษย์เช่นกัน ดังนั้นจุดเริ่มต้นก็คือจุดสุดท้ายหรือจุดสิ้นสุดการค้นหา ศาสตร์ต่างในโลกนี้ไม่ไปไกลเกินกว่ามนุษย์และธรรมชาติ
บ้านป่าอ้อจึงได้ตั้งชื่อศาสนสถานว่า ป่าอ้อร่มเย็น เพื่อเป็นภาพสะท้อนความสว่าง สะอาดสงบ ร่มรื่นในธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และ ปรินิพาน ในป่ามาตลอดพระชนม์ชีพ คือชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและธรรมะที่เป็นวิถีบ้านป่าอ้อ

สำนักสงฆ์ป่าอ้อร่มเย็น

๑. ชุมชนบ้านป่าอ้อ
ผืนดินดอยที่มีสีแดงเข้มเป็นเอกลักษณ์ ดูสงบนิ่งในวันที่มีแสงแดดจ้ากลางฤดูร้อน ชาวบ้านหมู่บ้านป่าอ้อ หมู่ที่ ๖ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก ทำนาข้าว ทำสวนชะอม และ ไร่สัปปะรด พื้นที่ป่าดั้งเดิมเต็มไปด้วยต้นลิ้นจี่ป่าหรือต้นคอแลน และไม้เบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าในอดีตพื้นที่แถบนี้นับว่าเป็นดงเสือ มีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุม คนพื้นเมืองที่นี่สืบเชื้อสายคนเมืองเชียงรายแต่ดั้งเดิม มีวัฒนธรรมประเพณี สืบทอดกันมายาวนาน อัธยาศัยดีและเป็นมิตรอย่างชาวเหนือ งานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงได้แก่เครื่องปั้นดินเผาจากดอยดินแดง ที่อยู่คู่กับชุมชนป่าอ้อ มากว่า ๑๖ ปี อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ผู้ก่อตั้งดอยดินแดงเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน ได้สร้างดอยดินแดงให้เป็นมากกว่าแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี แต่ดอยดินแดงยังเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย

๒. พิธีกรรม
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนา โดยมีผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวง ดวงคำ เชื้อเจ็ดตน เป็นผู้นำ การทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านนี้เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี แต่ในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากชาวบ้านมีความตั้งใจที่จะให้พิธีสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนาเป็นการร่วมกันทำบุญครั้งแรกของการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น”
และเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ผ้าป่ากองแรกของสำนักสงฆ์ วัดป่าอ้อร่มเย็นก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการชาวบ้านและคณะศรัทธาจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมกันทำบุญ ยิ่งเป็นการแสดงถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ในการจะสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา

๓. จุดสมดุล
“ศรัทธา” เป็นคำสามัญที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ศรัทธา”นั้น ยากที่จะทำความเข้าใจ หรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัว ศรัทธามากหรือน้อยนั้นวัดไม่ได้เป็นปริมาณ เป็นเรื่องนามธรรมเป็นเรื่องความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ‘ความรู้สึกศรัทธา’

ที่หมู่บ้านป่าอ้อ ชาวบ้าน ๗๐ หลังคาเรือน กว่า ๔๐๐ คนกำลังทำให้ “ความศรัทธา”นั้นเกิดเป็นรูปเป็นร่าง ชาวบ้านกำลังจะสร้างวัด ไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านที่นี่มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมาก นั้นเป็นเพราะ “วัด” ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่จะไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นแต่ยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่รับใช้ผู้คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง “วัด” ในความหมายของพื้นที่ที่สงบ ร่มเย็น เรียบง่าย สะท้อนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมของศรัทธา หล่อเลี้ยงหมู่บ้านและชุมชนให้อยู่ในครรลองของศีลธรรมอันดี วัดที่เป็น “จุดสมดุล” ระหว่าง ศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน ธรรมะ และ ธรรมชาติ

๔. “ป่าอ้อร่มเย็น”...เย็นธรรมท่ามกลางธรรมชาติ
ทุกๆอย่าง เกี่ยวเกาะ ต่อเนื่อง และเชื่อมโยง ธรรมะก็คือธรรมชาติ
จากพุทธประวัติ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรส พระนางได้เดินทางเพื่อไปประสูติพระโอรส ณ กรุงเทวทหะ แต่เมื่อไปถึง ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นป่าที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้น ตลอดระยะเวลาหกปี ที่พระโพธิสัตว์ได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์ แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ชีวิตภายใต้ร่มไม้ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน “ธรรมะคือความเข้าใจในธรรมชาติ”

“วัดป่าอ้อร่มเย็น” ร่มไม้จะเป็นร่มธรรม เป็นที่พักพิงให้แก่จิตใจที่ร้อนรุ่ม ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สะอาด สงบ เรียบง่าย และร่มเย็น “วัดป่าอ้อร่มเย็น” เกิดจากศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนา เพราะเราเชื่อว่าความเข้าใจในธรรมชาตินั้นจะน้อมนำจิตใจของผู้คนให้ไปสู่สิ่งที่ดีงาม

๕. ศิลปะกับชีวิต
จากมงคล ๓๘ ประการในข้อที่ ๘ ว่าด้วย การมีศิลปะ(สิปฺปญฺ จ)
ศิลปะคือความงาม ศิลปะคือชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่สอดประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การมีศิลปะนั้นเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นความเคารพต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ศิลปะกับชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การสืบทอดและความต่อเนื่องนั้นขึ้นอยู่กับผู้คนในชุมชนที่มีเข้าใจและใช้ชีวิตตามครรลองอันดีงาม ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร วัฒนธรรมที่มีพลวัตรนั้นก็จะยังคงสะท้อนความงามของการมีชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ
“อุดมคติ” เป็นเหมือนสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเอื้อมไปไม่ถึงในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนและความขัดแย้ง แต่ “อุดมคติ” ก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆจาก“ศรัทธา” และความร่วมมือร่วมใจ “วัดป่าอ้อร่มเย็น” จะเป็นตัวแทนของสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นจากจิตใจอันบริสุทธิ์ของชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย
สิ่งที่คณะศรัทธาวัดป่าอ้อร่มเย็น คำนึงถึงเป็นอย่างมากก็คือการออกแบบศาสนสถานที่เป็นไปตามครรลองสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ศาสนสถานที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ อย่างมีศิลปะ รูปแบบของวิหารแบบล้านนาโบราณเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจ การวางผังโดยรวมที่เน้นความเรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอยที่สะอาด และ สมถะให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ และเพียงพอต่อการใช้สอยรองรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวบ้านในชุมชน รูปแบบอันเรียบง่ายยังแสดงออกถึงสาระในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย