Sunday, December 27, 2009

ภาพบรรยากาศ คอนเสิร์ตการกุศล ความเรียบง่ายนั้นงดงาม

ที่บ้านคุณสมลักษณ์ ปันติบุญ 17 ธันวาคม 2552 (ภาพโดยคุณปอ) http://tinyurl.com/y9qnwey

Wednesday, December 16, 2009

งานคอนเสิร์ต "ความเรียบง่ายนั้นงดงาม"

งานคอนเสิร์ต "ความเรียบง่ายนั้นงดงาม"
เพื่อเจดีย์ไม้ไผ่ที่วัดป่าอ้อร่มเย็น นางแล เชียงราย

บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อก่อนหมู่บ้านป่าอ้อไม่มีวัด เวลาที่ต้องประกอบพิธีทางศาสนาตามประเพณี ชาวบ้านต้องข้ามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ไปยังวัดนางแล ซึ่งอยู่ห่างออกไป 

เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รวมตัวกันบริจาคเงินซื้อที่ดินในหมู่บ้านเพื่อสร้างวัด ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างวัดขนาดเล็กที่เหมาะสมกับการใช้สอย เรียบง่าย และสงบร่มเย็น จึงตั้งชื่อวัดอย่างง่ายๆตามชื่อหมู่บ้านว่่า "วัดป่าอ้อร่มเย็น"

จากความสามัคคีของชาวบ้าน ผ่านมา 2 ปี ที่วัดป่าอ้อร่มเย็น มีพระมหามงคล เป็นเจ้าอาวาส เรามีอุโบสถขนาดเล็กที่สวยงาม และได้ริเริ่มการสร้างเจดีย์ด้วยไม้ไผ่(นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สร้างเจดีย์ด้วยไม้ไผ่) เพื่อเป็นการรื้อฟื้นการใช้สอยวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งหาได้ง่าย ประหยัด และงดงาม ทั้งนี้ ได้นิมนต์พระสงฆ์จากพม่า มาสาธิตเทคนิคการเคลือบไม้ไผ่ด้วยน้ำยางรัก ซึ่งจะรักษาเนื้อไม้ไผ่ได้ยาวนาน

กิจกรรมการสานเจดีย์ไม้ไผ่ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสาธารณชนทุกหมู่เหล่า เราเริ่มกิจกรรมนี้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ นักดนตรีและศิลปินที่ได้ร่วมทำบุญด้วยเสียงเพลงโดยการจัดคอนเสิร์ตการกุศลที่มีชื่อว่า คอนเสิร์ต "ความเรียบง่ายนั้นงดงาม" เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้าน และแนวคิดของการสร้างวัดที่เรียบง่ายทว่างดงาม

คณะศรัทธาวัดป่าอ้อร่มเย็น ขอเชิญชวนท่าน มาร่วมงานคอนเสิร์ตการกุศล ร่วมสมทบทุนตามแต่จิตศรัทธาได้ที่บริเวณหน้างาน


งานคอนเสิร์ตจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคมศกนี้ ที่บริเวณลานบ้านของคุณสมลักษณ์​ ปันติบุญ

งานคอนเสิร์ต
"ความเรียบง่ายนั้นงดงาม"
วันที่ 17 ธันวาคม 2552 เริ่มพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเวลา 18:00 น.
ณ บ้านคุณสมลักษณ์​ ปันติบุญ  เลขที่ 222 บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อำเภอเมือง เชียงราย

กำหนดการ

17:00 การแสดงขับซอโดย คณะแม่ทองสร้อย
17:45 การแสดงเดี่ยวซึงเพลงสายน้ำของไหล โดยคุณสยาม พึ่งอุดม (15 นาที)
18:00 พิธีเปิด โดยคณะสงฆ์จากวัดป่าอ้อร่มเย็น และคุณสมลักษณ์ ปันติบุญ
18:30 พักรับประทานอาหารและชมงานนิทรรศการศิลปะ 
19:00 การแสดงพิณเปี๊ยะ โดยคุณเสรี ไชยยา
19:15 การแสดงเดี่ยวกีร์ต้าคลาสสิค โดยคุณองอาจ อินทนิเวศ
           เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน 3.30 นาที
           เพลงลาวดวงเดือน 6.20 นาที  
19:30 การแสดงโมเดิร์นแดนซ์ โดยคุณแววดาว ศิริสุข
19:45 วงดนตรีเครื่องสาย คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เดี่ยวฟลุ๊ตโดย วรพล กาญจน์วีระโยธิน ควบคุมวงโดย ทัศนา นาควัชระ

          Silpakorn University Strings Orchestra Soloist : Worapon Kanweerayothin Directed by Tasana Nagavajara

รายชื่อนักดนตรี

Violin 1

Tasana Nagavajara ทัศนา นาควัชระ Anawin Sawattabovorn อนาวิน เศวตบวร Siritan Thipnoppakun สิริธันว์ ทิพย์นพคุณ Athiya Voravijitrapun อธิยา วรวิจิตราพันธ์ Sompob Homsoi สมภพ หอมสร้อย

Violin 2

Kamolporn Byagghateja กมลพร พยัคฆเดช Karn Watcharaprapapong กานต์ วัชระประภาพงศ์ Piyaorn Kanjadilok ปิยอร กัญจน์ดิลก Pichaporn Sukhontapan พิชาภรณ์ สุคนธพันธุ์ Warunya Sri-iamkun วรัญญา ศรีเอี่ยมกูล Yu Maruta ยู มารูตะ Khanaphon Seedonrahmee คณพล สีดลรัศมี

Viola

Leo Phillips ลีโอ ฟิลลิปส์ Paradee Treeratt ภารดี ตรีรัตน์

Cello

Kittikhun Sodprasert กิตติคุณ สดประเสริฐ Thossaporn Pothong ทศพร โพธิ์ทอง

Double Bass

Khunakorn Sawat-Chuto คุณากร สวัสดิ์-ชูโต Suthichai Thamtikanon สุธิชัย ธรรมติกานนท์ Sudarat Taengtang สุดารัตน์ แต่งตั้ง

รายการแสดง

J.S. Bach
- Concerto for Two Violins in D minor, BWV1043

Pachelbel
- Canon

W.A. Mozart
- Andante in C major

K315 Leroy Anderson
- The Typewriter
- The Syncopated Clock
- Plink, Plank, Plunk

 


ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน)

ทัศนา นาควัชระ เป็นที่รู้จักดีในวงการดนตรีคลาสสิกของไทยในฐานะนักดนตรีที่มีความสามารถในการแสดงดนตรีอันหลากหลาย เขาได้แสดงเดี่ยวกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ วงดุริยางค์ราชนาวี          วงซิมโฟนีแห่งชาติของกรมศิลปากร และวงเครื่องสายบี.เอส.โอ   นอกจากนั้นก็ได้ออกแสดงดนตรีประเภทเชมเบอร์อยู่เป็นประจำ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ทัศนาเล่นดนตรีทุกรูปแบบนับตั้งแต่ดนตรีตะวันตกยุคโบราณมาจนถึงเพลงประกอบภาพยนตร์  ดุริยกวีร่วมสมัยหลายท่านได้สร้างงานขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะให้ทัศนานำออกแสดงเป็นครั้งแรก

เขาเรียนไวโอลินกับอาจารย์สุพจน์ ชมบุญ   อาจารย์สุทิน ศรีณรงค์   และอาจารย์ พ..ชูชาติ      พิทักษากร    ในขณะที่ยังศึกษาอยู่ในประเทศไทย เขาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าวงเยาวชนแห่งชาติ และได้รับเลือกเป็นหัวหน้าวงเยาวชนอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ด้วย

ทัศนาได้ไปศึกษาในยุโรปจนจบการศึกษาจาก International Menuhin Music Academy (IMMA) ในสวิตเซอร์แลนด์ และ Vorarlberg Conservatory ในออสเตรีย โดยได้ศึกษากับศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียง อันได้แก่ Alberto Lysy, Gratchia Arutunjan, Johannes Eskar และ Roland Baldini     ที่สถาบัน IMMA เขาได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นในดนตรีประเภทเชมเบอร์ และได้เดินทางไปแสดงในเมืองสำคัญๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอเมริกาใต้ ในฐานะสมาชิกของวง Camerata Lysy Gstaad ซึ่งมีนักไวโอลินเอกของโลก Lord Yehudi Menuhin เป็นผู้ควบคุมวง

จากนั้น ทัศนาได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Oregon เมือง Eugene สหรัฐอเมริกา กับศาสตราจารย์ Kathryn Lucktenberg โดยได้รับทุนผู้ช่วยสอน   นอกจากนั้นยังได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าวงซิมโฟนีของมหาวิทยาลัย และได้เป็นสมาชิกของวงดนตรีอาชีพคือ Eugene Symphony Orchestra, Oregon Mozart Players และ  Collegium Musicum Ensemble (ซึ่งเชี่ยวชาญการแสดงดนตรีโบราณด้วยเครื่องดนตรีต้นแบบ) ในฐานะหัวหน้าวง Polaris String Quartet เขากับผู้ร่วมวงได้เข้ารอบรองชนะเลิศในการประกวดควอเตทระดับชาติของสหรัฐอเมริกา ที่รู้จักกันในนามของ Fischoff National Chamber Music Competition  ทัศนาได้รับปริญญาโททางการแสดงดนตรี พร้อมกับรางวัลนักดนตรีดีเด่นระดับบัณฑิตศึกษา

นอกจากเล่นดนตรีอย่างสม่ำเสมอแล้ว ทัศนายังอุทิศเวลาให้กับการสอนและกิจการด้านดนตรีศึกษา และดำรงตำแหน่งรองคณบดี คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้ง มหกรรมดนตรีล้านนา และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนดนตรีภาคฤดูร้อน "เรียนดนตรีวิธีศิลปากร" อันเป็นที่ฝึกนักดนตรีรุ่นเยาว์ผู้มีพรสวรรค์ นอกจากนี้ทัศนายังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เขียนคอลัมน์ด้านดนตรีและสังคม/การเมืองให้แก่นิตยสาร OPEN

ทัศนา ได้รับทุนจากกองทุนสนับสนุนการศึกษาดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อไปฝึกอบรมขั้นสูงที่ Crescendo Violin School ณ เมือง Neustadt / Weinstrasse สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน

 

Tasana Nagavajara (Violin)

No stranger to Thailand's classical music enthusiasts, Tasana Nagavajara has established an outstanding reputation on a varied range of performing activities. He has appeared as soloist with the Bangkok Symphony Orchestra, the Royal Thai Navy Orchestra, the National Symphony Orchestra and the Bangkok String Orchestra among others. He has also given numerous recitals, regularly performs chamber music and is presently concertmaster of the Bangkok Symphony Orchestra. Tasana's repertoire ranges from ancient music to contemporary motion picture soundtrack, and he has inspired a number of modern composers to create new works especially for him.

     Tasana took violin lessons with Supot Chomboon, Sutin Srinarong and later with Col. Choochart Pitaksakorn. Still in his teens, he was appointed concertmaster of the Thai National Youth Orchestra and the ASEAN Youth Orchestra in Kuala Lumpur, Malaysia.

     He continued his music studies at the International Menuhin Music Academy (IMMA) in Switzerland and the Vorarlberg Conservatory in Austria. His teachers were Alberto Lysy, Gratchia Arutunjan, Johannes Eskar and Roland Baldini. At IMMA he received a rigorous training in chamber music, while touring with the Camerata Lysy Gstaad under the direction of Lord Yehudi Menuhin in most major European cities, the U.S., Canada and South America.

     Moving from Europe to the U.S., he studied the violin with Kathryn Lucktenberg at the University of Oregon, Eugene, where he was a Graduate Teaching Fellow. Tasana was an assistant violin instructor, concertmaster of the University Symphony as well as 1st violin with the Eugene Symphony Orchestra, the Oregon Mozart Players and the Collegium Musicum Ensemble (specializing in period instruments). He led the Polaris String Quartet to the semi-final of the renowned Fischoff National Chamber Music Competition in Indiana. He graduated with a Master of Music degree and received the Outstanding Graduate Performer Award.

     In addition to his extensive performance schedule, Tasana is seriously committed to teaching and music education. He is currently Deputy Dean of the Faculty of Music, Silpakorn University. He was a founding member of the Lanna Music Festival and has directed the Silpakorn Summer Music School, where young musical talents are trained to attain artistic excellence. He also writes articles on music and socio-political criticism for the OPEN Magazine.

     Tasana received a scholarship from the Classical Music Education Supporting Fund under the patronage of HRH Princess Galayanivadhana to attend a masterclass at the Crescendo Violin School for professional musicians in Neustadt/Weinstrasse, Germany. 

    

 

 

 

 

 

 

 

Wednesday, December 2, 2009

งานโครงสร้างเจดีย์ไม้ไผ่ที่วัดป่าอ้อร่มเย็น

งานโครงสร้างเจดีย์ไม้ไผ่ที่วัดป่าอ้อร่มเย็น
ถ่ายเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552

Monday, November 16, 2009

เสื้อยืดสีขาวคอกลมรุ่นแรก "สานเจดีย์ 52"

เสื้อยืดสีขาวคอกลมรุ่นแรก "สานเจดีย์ 52" 

เสื้อยีดคอกลมสีขาว ไซส์  s-m-l-xl (แบบมาตรฐานเสื้อยืดทั่วๆไป)
มีสองสี คือ สกรีนสีเขียวเข้มกับสีน้ำตาลเข้ม (ดูภาพประกอบในไฟล์แนบได้ครับ)

วิธีการสั่งซื้อ คือ กรอกข้อมูลดังนี้ ส่งอีเมลมาที่ angkrit@gmail.com 

ชื่อ....นามสกุล....
ที่อยู่ติดต่อทางไปรษณีย์.....
เบอร์โทร......อีเมล......
จำนวนเสื้อ.......
ขนาด(size)........

หลังจากผมได้ข้อมูลการสั่งจองของท่านแล้ว ผมจะแจ้งยืนยันพร้อมข้อมูลการโอนเงิน  
จากนั้นท่านไปโอนเงิน แล้ว อีเมลกลับมาบอก วันที่+เวลา โอนเงิน (มีอยู่ในสลิป) 
ผมจะจัดส่งให้เร็วที่สุดครับ

ราคาเสื้อตัวละ 200 บาท รวมค่าจัดส่ง 
มีจำนวนจำกัดเพียง 100 ตัว คละไซส์ ส่วนที่เหลือเอาไว้ขายหน้างานสำหรับคนที่จะมาร่วมสานเจดีย์ที่เชียงราย ไม่ต้องสั่งซื้อครับ มาเอาที่นี่ 
เสื้อจะพร้อมส่งตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป 

(เงินทุกบาทเข้าวัดทำบุญร่วมกันครับ) 
ปล.ท่านจะช่วยได้มาก หากรวบรวมกับเพื่อนๆ สั่งครั้งเดียวหลายๆตัว แล้วท่านไปแจกจ่ายกันเอง 

ขอบคุณมากครับ

อังกฤษ โทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 086-911-5331


ขอเชิญท่านร่วมงาน "สานใจสานเจดีย์ไม้ไผ่สานต่อพระพุทธศานา"

ขอเชิญท่านร่วมงาน สานใจสานเจดีย์ไม้ไผ่สานต่อพระพุทธศานา  

นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการจัดสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ด้วยไม้ไผ่ลงรัก ปิดทอง สูง 18 เมตร ตามอย่างวิธีการโบราณ ในการนี้คณะศรัทธาวัดป่าอ้อร่มเย็นได้นิมนต์พระสงฆ์ชาวพม่าผู้มีความเชี่ยวชาญในเทคนิคมาร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัตการ กับชาวบ้านที่เป็นคณะศรัทธาและอาสาสมัครที่สนใจในงานสานเจดีย์ไม้ไผ่จะจัด ขึ้นที่วัดป่าอ้อร่มเย็น บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

หมายกำหนดการมีดังนี้

1-20 พฤศจิกายน เริ่มสร้างฐานรากพระเจดีย์

20 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม เริ่มสร้างโครงสร้างเหล็กเส้นพระเจดีย์

5 ธันวาคม-31 ธันวาคม ร่วมแรงร่วมใจ สานพระเจดีย์ด้วยไม้ไผ่

17 ธันวาคม คอนเสิร์ตการกุศล “สานใจสานเจดีย์ไม้่ไผ่สานต่อพระพุทธศาสนา” โดยวงศิลปากรออเครสต้า นำโดยอาจารย์ทัศนา นาควัชระ การแสดงการเต้นร่วมสมัย โดยศิลปินชาวเชียงรายคุณแววดาว ศิริสุข  นิทรรศการประติมากรรมไม้ไผ่โดยประติมากรชั้นเยี่ยมของประเทศไทย สมทบทุนวัดป่าอัอร่มเย็น   

1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์
ขัดผิว ลงรัก ปิดทององค์พระเจดีย์

ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระบูชาจำนวน 84000 องค์

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ (ผู้ประสานงาน)
โทรศัพท์ 086-911-5331 อีเมล : angkrit@gmail.com
http://watromyen.blogspot.com

 

เกี่ยวกับวัดป่าอ้อร่มเย็น

วัดกับชุมชน

หมู่บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และสมัครสมานสามัคคี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร และสำนึกในพระบารมี
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทว่าในอดีตที่ผ่านมา หมู่บ้านป่าอ้อยังไม่มีวัดอันเป็นศาสนสถานประจำพระพุทธศาสนา ทำให้คณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องเดินทางไปทำบุญยังวัดที่อยู่ห่างไกล จึงไม่สะดวกและปลอดภัยในการเดินทางสัญจรไปมาเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เองคณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาหมู่บ้านป่าอ้อ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีจิตศรัทธาอันแรงกล้าที่จะร่วมกันประกอบกุศลบุญ
ครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เป็นวัดประจำหมู่บ้านขึ้น โดยถือเอารูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดแบบล้านนาโบราณ ที่มีเอกลักษณ์งดงามทว่าเรียบง่าย ภายใต้บรรยากาศที่สงบเงียบ ร่มรื่น เหมาะสมกับการปฏิบัติศาสนากิจและวิถีชีวิตของชาวล้านนาอย่างแท้จริง

 

คุณค่าและความหมายของไม้ไผ่

๑. มีธรรมชาติที่เรียบง่าย

๒. มีความงดงามซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ

๓. มีความเป็นมิตรและสัมพันธ์กับวิถีชาวบ้านอย่างแนบแน่นมาช้านาน

๔. เป็นไม้ที่ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนบุกรุกและทำลายป่า

๕. มีราคาถูก ประหยัด หาได้ง่ายในท้องถิ่น

๖. เสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน

๗. ไผ่เป็นไม้ที่สามารถปลูกทดแทนได้ง่ายใช้ระยะเวลาสั้นและมีประโยชน์มาก

๘. คุณลักษณะของไม้ไผ่ แฝงนัยยะแห่งสัจธรรมตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๙. เพื่อเป็นเอกลัษณ์สืบต่อไปสืบต่อไป

 

วัดป่าอ้อร่มเย็น

๑. ชุมชนบ้านป่าอ้อ

ผืนดินดอยที่มีสีแดงเข้มเป็นเอกลักษณ์ ดูสงบนิ่งในวันที่มีแสงแดดจ้ากลางฤดูร้อน ชาวบ้านหมู่บ้านป่าอ้อ หมู่ที่ ๖ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก ทำนาข้าว ทำสวนชะอม และ ไร่สัปปะรด พื้นที่ป่าดั้งเดิมเต็มไปด้วยต้นลิ้นจี่ป่าหรือต้นคอแลน และไม้เบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า
ในอดีตพื้นที่แถบนี้นับว่าเป็นดงเสือ มีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุม คนพื้นเมืองที่นี่สืบเชื้อสายคนเมืองเชียงรายแต่ดั้งเดิม มีวัฒนธรรมประเพณี สืบทอดกันมายาวนาน อัธยาศัยดีและเป็นมิตรอย่างชาวเหนือ งานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงได้แก่เครื่องปั้นดินเผาจากดอยดินแดง ที่อยู่คู่กับชุมชนป่าอ้อ มากว่า ๑๖ ปี อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ผู้ก่อตั้งดอยดินแดงเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน ได้สร้างดอยดินแดงให้เป็นมากกว่า
แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี แต่ดอยดินแดงยังเป็นแหล่งผลิตบุคลากร
ทางด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย

 

๒. พิธีกรรม

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนา โดยมีผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวง ดวงคำ เชื้อเจ็ดตน เป็นผู้นำ การทำบุญสู่ขวัญหมู่บ้านนี้เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี แต่ในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากชาวบ้านมีความตั้งใจที่จะให้พิธีสู่ขวัญหมู่บ้านกลางทุ่งนาเป็นการร่วมกัน
ทำบุญครั้งแรกของการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น”และเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ผ้าป่ากองแรกของสำนักสงฆ์วัดป่าอ้อร่มเย็นก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการชาวบ้านและคณะศรัทธาจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมกันทำบุญยิ่งเป็นการแสดงถึงความตั้งใจ
อันแน่วแน่ในการจะสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา

 

๓. จุดสมดุล

“ศรัทธา” เป็นคำสามัญที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ศรัทธา”นั้นยากที่จะทำความเข้าใจหรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัวศรัทธามากหรือน้อยนั้นวัดไม่ได้เป็นปริมาณเป็นเรื่องนามธรรมเป็นเรื่องความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ‘ความรู้สึกศรัทธา’ ที่หมู่บ้านป่าอ้อ ชาวบ้าน ๗๐ หลังคาเรือน กว่า ๔๐๐ คนกำลังทำให้ “ความศรัทธา”นั้นเกิดเป็นรูปเป็นร่าง ชาวบ้านกำลังจะสร้างวัดไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านที่นี่มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมากนั้นเป็นเพราะ“วัด”ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่จะไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นแต่ยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่รับใช้ผู้คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง “วัด” ในความหมายของพื้นที่ที่สงบ ร่มเย็น เรียบง่าย
สะท้อนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมของศรัทธา หล่อเลี้ยงหมู่บ้านและชุมชนให้อยู่ในครรลองของศีลธรรมอันดี วัดที่เป็น “จุดสมดุล” ระหว่าง ศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน ธรรมะ และ ธรรมชาติ

 

๔. “ป่าอ้อร่มเย็น”...เย็นธรรมท่ามกลางธรรมชาติ

ทุกๆอย่าง เกี่ยวเกาะ ต่อเนื่องและเชื่อมโยงธรรมะก็คือธรรมชาติ
จากพุทธประวัติเมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรสพระ
นางได้เดินทางเพื่อไปประสูติพระโอรส ณ กรุงเทวทหะแต่เมื่อไปถึงลุมพินีวันซึ่งเป็นป่าที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้น ตลอดระยะเวลาหกปี ที่พระโพธิสัตว์ได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์ แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ชีวิตภายใต้ร่มไม้ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน “ธรรมะคือความเข้าใจในธรรมชาติ”

“วัดป่าอ้อร่มเย็น” ร่มไม้จะเป็นร่มธรรม เป็นที่พักพิงให้แก่จิตใจที่ร้อนรุ่ม ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สะอาด สงบ เรียบง่าย และร่มเย็น “วัดป่าอ้อร่มเย็น” เกิดจากศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนา เพราะเรา
เชื่อว่าความเข้าใจในธรรมชาตินั้นจะน้อมนำจิตใจของผู้คนให้ไปสู่สิ่งที่ดีงาม

 

๕. ศิลปะกับชีวิต

จากมงคล ๓๘ ประการในข้อที่ ๘ ว่าด้วย การมีศิลปะ(สิปฺปญฺ จ)

ศิลปะคือความงาม ศิลปะคือชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่สอดประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การมีศิลปะนั้นเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นความเคารพต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ศิลปะกับชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนไปตามยุค
สมัยการสืบทอดและความต่อเนื่องนั้นขึ้นอยู่กับผู้คนในชุมชนที่มีเข้าใจและใช้ชีวิตตามครรลองอันดีงาม ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร วัฒนธรรมที่มีพลวัตรนั้นก็จะยังคงสะท้อนความงามของการมีชีวิตที่สอดคล้องกับวิถี
ของธรรมชาติ

“อุดมคติ” เป็นเหมือนสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเอื้อมไปไม่ถึงในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนและความขัดแย้ง แต่ “อุดมคติ” ก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆจาก“ศรัทธา” และความร่วมมือร่วมใจ “วัดป่าอ้อร่มเย็น”จะเป็นตัวแทนของสิ่งดีงาม
ที่เกิดขึ้นจากจิตใจอันบริสุทธิ์ของชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

สิ่งที่คณะศรัทธาวัดป่าอ้อร่มเย็น คำนึงถึงเป็นอย่างมากก็คือการออกแบบศาสนสถานที่เป็นไปตามครรลองสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ศาสนสถานที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ อย่างมีศิลปะ รูปแบบของวิหารแบบล้านนาโบราณเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจ การวางผังโดยรวมที่เน้นความเรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอยที่สะอาด และ สมถะให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ และเพียงพอต่อการใช้สอยรองรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวบ้านในชุมชน รูปแบบอันเรียบง่ายยังแสดงออกถึงสาระในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย




...............................



มีคำถามถามว่าถ้าเป็นเจดีย์ไม่ไผ่ อายุการใช้งานก็น้อยต้องบูรณะใหม่บ่อย ๆ หรือเปล่า ทำไมต้องใช้ไม่ไผ่ด้วย ?


คุณอภิวัฒน์ ธันยานนท์ (ผู้เชี่ยวชาญสถาปัยกรรมไทยล้านนา) กล่าวไว้ว่า 


Apiwat Thanyanont
ถ้าใช้แนวทางการอนุรักษ์แบบญี่ปุ่น คือ 20 ปีรื้อทำใหม่โดยคงรูปแบบเดิมไว้ ก็วิเศษเลย นอกจากนั้นยังวางแผนปลูกป่าไผ่ไว้เป็นวัตถุดิบในอนาคต อันนี้ยอดเยี่ยมลงตัว การสร้างพระพิมพ์จำนวน 84,000 องค์บรรจุลงไหแล้วประดิษฐานในพระเจดีย์ ตรงนี้เราอยากแนะนำว่า เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปีถึงคราวแห่งการบูรณะ ให้นำ 84,000 องค์นั้นออกมาให้ประชาชนเช่าบูชา เป็นพระพิมพ์จากกรุพระเจดีย์รุ่นปี...อะไรก็ว่าไป จัดพิธีสมโภชเฉลิมฉลองเป็นงานปอยหลวง แล้วสร้าง 84,000 องค์ใหม่บรรจุเข้าไป เราอาจได้ทุนทรัพย์จำนวนหนึงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะครั้งต่อไป ... ขอให้โครงการนี้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยดี อนุโมทนา :)"








--
อังกฤษแกลลอรี่ 99 หมู่ 2 พหลโยธิน นางแล เชียงราย 57100
angkritgallery 99 M2 Pahonyotin, Nanglae, ChiangRai, THAILAND 57100 http://angkritgallery.com

Wednesday, October 28, 2009

ขอเชิญร่วมสร้างเจดีย์ไม้ไผ่ 1 ธันวาคมศกนี้





ขอเชิญผู้สนใจ ร่วมแรงร่วมใจสร้างเจดีย์ไม้ไผ่สาน ลงรักปิดทอง แห่งแรกของประเทศไทย ที่วัดป่าอ้อร่มเย็น ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย

สานเจดีย์ทั้งองค์ด้วยไม้ไผ่ ความสูง 17 เมตร เริ่มงานโครงสร้างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 เริ่มสานองค์เจดีย์ ร่วมกับชาวบ้านและคณะศรัทธา บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล ในวันที่ 1 ธันวาคม 2552 เรื่อยไปจนเสร็จในวันที่ 16 ธันวาคม 2552

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
อังกฤษ อัจฉริยโสภณ 086-911-5331
อีเมล angkrit@gmail.com
Posted by Picasa