Monday, July 16, 2007

วัดกับชุมชน

หมู่บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และสมัครสมานสามัคคี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร และสำนึกในพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทว่าในอดีตจวบจนปัจจุบันพบว่า หมู่บ้านป่าอ้อยังไม่มีวัดอันเป็นศาสนสถานประจำพระพุทธศาสนา ทำให้คณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องเดินทางไปทำบุญยังวัดที่อยู่ห่างไกล จึงไม่สะดวกและปลอดภัยในการเดินทางสัญจรไปมาเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เองคณะศรัทธาในพระพุทธศาสนาหมู่บ้านป่าอ้อ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีจิตศรัทธาอันแรงกล้าที่จะร่วมกันประกอบกุศลบุญครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการสร้าง “วัดป่าอ้อร่มเย็น” ให้เป็นวัดประจำหมู่บ้านขึ้น โดยถือเอารูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดแบบล้านนาโบราณ ที่มีเอกลักษณ์งดงามทว่าเรียบง่าย ภายใต้บรรยากาศที่สงบเงียบ ร่มรื่น เหมาะสมกับการปฏิบัติศาสนากิจและวิถีชีวิตของชาวล้านนาอย่างแท้จริง
วิถีบ้านป่าอ้อ จากธรรมชาติสู่ธรรมะ

บ้านป่าอ้อเป็นชุมชนคนเชียงรายที่มีวิถีการผลิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติมาโดยตลอดถึงแม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆใกล้เมืองก็ตาม แม้ว่าความคิดของคนทั่วไปมักมองว่าหมู่บ้านในประเทศไทยมีลักษณะเหมือนๆกันแต่ความจริงแล้วหมู่บ้านที่เป็นหน่วยการปกครองเล็กๆมีความแตกต่างในอัตลักษณ์ทุกแห่ง หมู่บ้านป่าอ้อแห่งนี้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง การที่มีมุมมองจากผู้คนที่มีวิถีการผลิตแบบสังคมเมืองมักคุ้นเคยกับธรรมชาติที่ปรุงแต่งแล้วเช่น น้ำในชีวิตประจำวันวิถีเมืองน้ำต้องได้รับการปรุงแต่งจากธรรมชาติแล้วสู่ผู้คนในท้ายที่ สุดทำให้ไม่เห็นความจริงของน้ำ พลังของน้ำและ ความงดงามของน้ำ ทำให้น้ำไม่มีชีวิตในวัฒนธรรมเมือง แต่สำหรับหมู่บ้านที่มีชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติไม่เพียงจะเห็น ชีวิตของน้ำได้ จะเห็นว่าธรรมชาตินั้นมีพลังอำนาจมากมายที่จะให้คุณและโทษหากเราไม่ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ
วิถีการผลิตของหมู่บ้านสอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินชีวิตการปลูกข้าวก็เพื่อความเพียงพอกับการบริโภคในแต่ละปีของครอบครัว ที่ดินไม่ได้มีไว้เพื่อการผลิตแต่ยังคงไว้ซึ่งความงามของคันนา และสวนผลไม้ความประสานกลมกลืนของต้นไม้ที่ได้ผ่านประสบการณ์ความงามตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมมาแล้ว การเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน เมือผลผลิตมีส่วนเกินก็นำไปจำหน่ายในตลาดของหมู่บ้านซึ่งจะราคาถูกว่าและสดกว่าในตลาดข้างนอก เงินทองหมุนเวียนในหมู่บ้าน อุดมการณ์เชิง คุณค่า ความเชื่อ และค่านิยมของพุทธศาส- นิกชนบ้านป่าอ้อที่ยังคงมีความหลงเหลือความเชื่อดั้งเดิมในการรักรักษาธรรมชาติ เช่นการสืบชะตาหมู่บ้าน การจัดพิธีส่งเคราะห์ในแต่ละปี ความรู้เรื่องพืชสมุนไพร ความสัมพันธ์ระห่างมนุษย์กับสัตว์และแมลงในวิถีชีวิต ถ้ามีข้าวกินแล้วเรื่องกับข้าวมีอยู่ทั่ว ไปตามฤดูกาล
มนุษย์นั้นมีมุมองที่คิดว่าธรรมชาติเป็นสิ่งอื่นเป็นสิ่งที่แปลก ปลอมในชีวิตต้องนำมาปรุงแต่งและคิดว่าเป็นสินค้า ธรรมชาติจึงถูกมนุษย์ให้ความหมายที่ห่างไกลตัวมนุษย์ไปทุกขณะ และเราอาจพบว่าไกลที่สุดของความหมายที่มนุษย์ปรุงแต่งให้กับธรรม- ชาติก็คือตัวธรรมชาติเอง และสุดพรมแดนของความรู้ ความจริง ความดีและความงาม ของมนุษย์ก็อยู่ที่ตัวมนุษย์เช่นกัน ดังนั้นจุดเริ่มต้นก็คือจุดสุดท้ายหรือจุดสิ้นสุดการค้นหา ศาสตร์ต่างในโลกนี้ไม่ไปไกลเกินกว่ามนุษย์และธรรมชาติ บ้านป่าอ้อจึงได้ตั้งชื่อศาสนสถานว่า ป่าอ้อร่มเย็น เพื่อเป็นภาพสะท้อนความสว่าง สะอาดสงบ ร่มรื่นในธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนาและปรินิพานในป่ามาตลอดพระชนม์ชีพคือชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและธรรมะที่เป็นวิถีบ้านป่าอ้อ

No comments: